Monday, December 17, 2018

สังคมศึกษา


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริที่แท้จริงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 หมายถึงอะไร วันนี้เราจะมาย้อนทำความรู้จักแนวคิดนี้กันอีกสักครั้ง 

หลักเศรษฐกิจพอเพียง

          แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นหูเพราะเคยได้เรียนรู้และเคยได้ยินกันบ่อย ๆ แต่กลับมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจหลักปรัชญาและการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแบบอย่างที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริไว้ ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมารำลึกถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามคำที่พ่อเคยสอนเราไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน...

เศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร
    
          เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลาง ความไม่ประมาท ไม่ฟุ่มเฟือย คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยมีใจความสำคัญคือสติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งเป็นบันไดสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

หลักเศรษฐกิจพอเพียง

          โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ดังนี้
          “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (18 กรกฎาคม 2517)

          “...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (4 ธันวาคม 2517)

          จากพระบรมราโชวาทนี้จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเห็นว่าการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นให้สร้างความพอมีพอกินในประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน และเมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นเป็นลำดับถัดไป 

หลักเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริที่แท้จริงเป็นอย่างไร
    
          จริง ๆ แล้วปรัชญาพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับของรัฐที่ซึ่งจะนำมาใช้ในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง และในขณะเดียวกันก็ต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม
    
          ทั้งนี้หากจะกล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจให้เข้าใจง่ายขึ้นมาอีกนิดก็อาจจะอธิบายได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียง มีหัวใจหลักคือการพอในความต้องการ ดังพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541 ความว่า 


          พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2541

          “...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทําอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...” 

          “...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็หมายความอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง...พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...” 

          พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของปรัชญาแห่งความพอเพียงอย่างแท้จริง ทรงมีพระราชจริยวัตรที่เกี่ยวข้องกับความประหยัดและพอเพียงมากมาย อาทิ

          - เผยพระกระยาหารโปรด ในหลวง ร.9 สุดแสนธรรมดา พ่อแห่งความพอเพียง
          - ข้าวผัดไข่ 1 จาน ของในหลวง ต้นแบบปรัชญาพอเพียง เรื่องเล่าจาก ดร.สุเมธ 
          - เปิดเรื่องเล่าสุดประทับใจ ฉลองพระบาทของ ในหลวง ร.9...ที่ซ่อมไม่ได้อีกต่อไป

หลักเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงมีอะไรบ้าง
    
          ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้
 
ห่วง 1 คือ ความพอประมาณ 
    
          หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ 

ห่วง 2 คือ ความมีเหตุผล
    
          หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ 

ห่วง 3 คือ ภูมิคุ้มกัน 
    
          หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

          ทั้งนี้นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงอีก 2 ประการ ดังนี้

1. เงื่อนไขความรู้

    
          อันประกอบไปด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ 

2. เงื่อนไขคุณธรรม
    
          อันประกอบไปด้วยความตระหนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร และการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเสริมสร้าง

หลักเศรษฐกิจพอเพียง

ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต้องทำอย่างไร
    
          แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศชาติ และวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย ซึ่งเราสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติได้ตามนี้

หลักเศรษฐกิจพอเพียง
หลักเศรษฐกิจพอเพียง

หลักเศรษฐกิจพอเพียง

          1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต 
          2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต 
          3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง 
          4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ 
          5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

          จะเห็นได้ว่าหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสามารถสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้หากทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย    

No comments:

Post a Comment